FLAGSHIPS MODEL: DRIVE SUSTAINABILITY of PAT

FLAGSHIPS MODEL: DRIVE SUSTAINABILITY of PAT

ท่าเรือฯ มุ่งพัฒนาท่าเรือที่ทันสมัย และ Hi-Technology เพื่อก้าวสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก เผยยุทธศาสตร์ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ด้วยพลังขับเคลื่อน F L A G S H I P S Model พัฒนาภายใน ควบคู่การยกระดับชุมชนโดยรอบ

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย แสดงวิสัยทัศน์การบริหาร การท่าเรือฯ ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใน ควบคู่การยกระดับชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก ภายใต้การดำเนินงานตามหลัก BCG Model พร้อมเผยตัวผลักดัน “F L A G S H I P S” มุ่งสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

Green Port …BCG Model

ตามประกาศวาระแห่งชาติและนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนเชิงคุณภาพโดยเน้นการพึ่งพาตนเอง ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว Bio-Circular-Green Economy : BCG Model นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยให้ความสำคัญในเรื่องระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศ

ดังนั้นสำหรับการท่าเรือฯ นอกจากจะมุ่งพัฒนาให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย และ Hi-Technology แล้ว ต้องเร่งพัฒนาสู่ท่าเรือสีเขียว หรือ Green Port เพื่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แก้ไขปัญหามลพิษ ลดปัญหาการจราจรและภาวะผลกระทบโดยรอบของการท่าเรือฯ สร้างการยอมรับของชุมชนและสังคม ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลให้องค์กรสามารถเติบโตควบคู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการและการพัฒนาการท่าเรือฯ ตามโมเดล BCG ต้องเป็นไปตามหลักยุทธศาสตร์ ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม และแผนวิสาหกิจของการท่าเรือฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ด้วยความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย

ความพึงพอใจ-ผลกำไร-ประโยชน์ส่งรัฐ

รัฐบาล ประชาชน และพนักงาน คือวงล้อความสัมพันธ์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการพัฒนาภายใต้ BCG Model และวิสัยทัศน์ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ของการท่าเรือฯ โดยเริ่มจากรัฐบาลซึ่งหมายถึงการท่าเรือฯ ควรมุ่งเน้นการบริหารจัดการและการให้บริการขนส่งด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจและพึงพอใจให้แก่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ กลุ่มพันธมิตรในแวดวงโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล ตลอดจนการได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้ประกอบการ ลูกค้า/ผู้ใช้บริการ ชุมชนโดยรอบ ฯลฯ ในด้านการให้บริการที่ครบวงจร สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดีจะนำมาสู่ผลตอบแทนที่ดีของพนักงาน

ดังนั้นทั้ง 3 วงล้อความสัมพันธ์ต้องผนึกกำลังการทำงานในรูปแบบของ “จตุรภาคี” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของภาครัฐ-เอกชน ในการยกระดับการให้บริการให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชน โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาองค์กร ภายใต้กรอบระเบียบกฎหมาย สังคม มหาวิทยาลัย โดยการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ในฐานะนักวิชาการของสังคมหรือมหาวิทยาลัยมาพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ให้สอดคล้องกับธุรกิจการท่าเรือฯ และสถาบันวิจัยและเครือข่ายต่างประเทศ โดยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัย และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือและการผูกสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่าย

ดังนั้นการทำงานในรูปแบบของจตุรภาคี นอกจากจะนำมาซึ่งความเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว จะนำมาซึ่งส่วนแบ่งการตลาด รายได้ ผลกำไร และความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่จะ reflect กลับมาในรูปแบบของผลตอบแทนและสวัสดิการของพนักงาน และเป็นรายได้ที่นำส่งให้แก่แผ่นดิน

3 ยุทธศาสตร์ สู่ “การเติบโตอย่างยั่งยืน”

Smart & Green Port
การพัฒนาองค์กรสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำด้วยการให้บริการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐาน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

Port City
การท่าเรือฯ ไม่สามารถเติบโตได้เพียงลำพัง เราจะยกระดับชุมชนโดยรอบพร้อมบริหารสินทรัพย์ของการท่าเรือฯ ให้เติบโต มั่นคงควบคู่กับการบริหารจัดการท่าเรือ โดยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่ม อันจะเป็นการสร้างความสุขและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ชุมชนโดยรอบและประชาชนที่เกี่ยวข้อง

Thailand Maritime Industry
จุดมุ่งหมายของการท่าเรือฯ คือ การเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก (World Class Port) และเป็น Excellent Logistics ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน การท่าเรือฯ ต้องเป็นผู้นำด้านการขนส่งทางทะเลของโลก โดยหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญ คือ จัดตั้งสถาบัน Maritime Logistics Institute เพื่อเป็นสถาบันการศึกษา เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ และผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในด้าน Logistic & Maritime

โดยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยใช้ 9 Drivers > F L A G S H I P S Model

Finance การจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทั้งด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ

Logistics การพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานควบคู่การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเชื่อถือได้

Asset Management การบริหารสินทรัพย์ควบคู่กับการมุ่งทำการตลาดเชิงรุก และการให้บริการที่ครบวงจร เพื่อเพิ่มแหล่งจัดหารายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่ม

Good Governance การกำกับดูแลองค์กรที่ดี ต้องบริหารงานอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล ซึ่งเรื่องนี้จะมีตัวชี้วัดคือคะแนน ITA (Integrity & Transparency Assessment)

Stakeholders ต้องสร้างการยอมรับและความพึงพอใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้จะทำให้เรารู้โอกาส ปัญหา และอุปสรรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการกำหนดทิศทางการบริหารและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Human Resources ยกระดับความรู้ความสามารถและการพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับภารกิจและก้าวทันความเปลี่ยนแปลง

Innovations การพัฒนากระบวนการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบและวัดผลได้

Profit การได้มาซึ่งรายได้และผลกำไร ทั้งนี้อาจจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นได้แต่ต้องอยู่สัดส่วนที่เหมาะสม

Sustainability การสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในส่วนธุรกิจหลักและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนันสนุนการเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการท่าเรือฯ เติบโตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของ กทท.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *